a
Biogenetech

Related Posts

    Sorry, no posts matched your criteria.

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine)

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine)

หน้าแรก   /   Health Education   /   เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine)

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine)
BY TRAVM DR, LAST MODIFIED ON JANUARY 14TH, 2012

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นเป็นวัคซีนเฉพาะที่ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป แต่เป็นวัคซีนที่สำคัญสำหรับบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป กลุ่มผู้แสวงบุญที่จะไปประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาบางประเทศ ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องวัคซีน เรามารู้เรื่องโรคนี้สักเล็กน้อยดีกว่าครับ

1 โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก เชื้อก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Neisseria meningitidis ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือเกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (Meningococcemia) และทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

2 โรคนี้ติดต่อทางละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย หรือจากสารคัดหลั่งต่างๆ จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายจะเป็นพาหะ มีน้อยรายมากที่เชื้อจะลุกลามไปที่เยื่อหุ้มสมองหรือกระแสโลหิต ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ประปราย ไม่พบการระบาดใหญ่ จากสถิติย้อนหลังพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทยปีละไม่เกิน 10 คน

3 โรคนี้จะติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือคลุกคลีอยู่กันคนหมู่มาก อยู่รวมๆกัน เช่น นักเรียนนักศึกษาในหอพัก กลุ่มผู้แสวงบุญ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวนักเดินทางที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในประชากรกลุ่มดังกล่าว

4 วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทยสามารถป้องกันโรคได้ 4 สายพันธุ์คือ A, C, Y, W-135 แต่ในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดคือสายพันธุ์ B ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นจึงยังไม่มี

คำแนะนำให้การฉีดวัคซีนในคนไทยโดยทั่วไปในการป้องกันโรคนี้

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้ มี3 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1 นักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปพักในหอพัก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีข้อกำหนดเลยว่า นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปเรียนจะต้องได้รับวัคซีนดังกล่าวก่อนเข้าไป และจะต้องยื่นเอกสารว่าได้รับการฉีดวัคซีนนี้ด้วย นอกจากวัคซีนชนิดนี้แล้ว ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดเรื่องสุขภาพแตกต่างๆกัน เช่นในบางมหาวิทยาลัยกำหนดว่าจะต้องได้รับวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ด้วย หรือจะต้องทำการตรวจวัณโรคก่อนไป ฯลฯ แต่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้บังคับไว้ ดังนั้นสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมาตรวจสุขภาพหรือมาฉีดวัคซีนก่อนไปเรียน ควรนำใบข้อกำหนดต่างๆจากมหาวิทยาลัยมาให้แพทย์ดูด้วยครับ จะได้พิจารณาเรื่องการตรวจต่างๆและเรื่องวัคซีนไปในคราวเดียวกัน

2 กลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจจ์และอุมเราะห์ อันนี้ก็เป็นข้อกำหนดของทางการประเทศซาอุดิอารเบียเลยนะครับว่า ก่อนเข้าร่วมพิธีดังกล่าวจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น โดยจะต้องยื่นหลักฐานว่าเคยได้รับวัคซีนนี้แล้วเพื่อใช้ในการขอ visa เข้าประเทศ โดยจะต้องฉีดล่วงหน้าก่อนเดินทางไปอย่างน้อย 10 วัน แต่ไม่เกิน 3 ปี

3 กลุ่มนักท่องเที่ยว/นักเดินทางที่จะไปในประเทศในเขต Meningitis belt ในแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศแกมเบีย บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล กีนี ไล่ไปทางตะวันออกจนถึงประเทศเอธิโอเปีย หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเข้าไปคลุกคลีกับคนพื้นที่มากๆ ลองดูแผนที่ Meningitis belt จาก US CDC ดูนะครับ จะเห็นว่าประเทศในแถบนี้เคยมีการระบาดของโรคที่รุนแรง มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวหรือทำงานในประเทศดังกล่าวควรได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง


วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทย เป็นชนิด tetravalent meningococcal polysaccharide vaccine มีชื่อการค้าว่า Menomune สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์คือ A, C, Y, W-135 ฉีดได้ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 7-10 วัน และฉีด 1 ครั้งภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ 3-5 ปี

เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป จึงอาจหาได้ยาก และไม่มีในโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนสามารถติดต่่อได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข

http://www.thaitravelclinic.com/blog/th/travel-medicine-issue/thai-meningococcal-vaccine.html